ประวัติ ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เกิดวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2483 ที่บ้านพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตและเป็นผู้ชายคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 5 คน บิดาชื่อนายฮกหรือสมบัติ พงษ์ไพบูลย์ มารดาชื่อนางสมใจ บิดาเคยเป็นหลงจู๊โรงฝิ่น เนาวรัตน์เรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดบ้านทวน และต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด จากนั้นได้ศึกษาต่อชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนทวีธาภิเศก และจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2508

ครอบครัวของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ชอบการแต่งโคลงกลอน ชอบดนตรีไทย มารดาชอบอ่านวรรณคดี เขาจึงอ่านหนังสือได้ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมปีที่ 1 เป่าขลุ่ยได้ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เขาเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตมาตั้งแต่เด็กๆ ขณะที่เนาวรัตน์กำลังศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3 ที่โรงเรียนวิสุทธรังษีอยู่นั้น เนาวรัตน์ได้พบโคลงสี่ที่บิดาเขียนไว้เมื่อยังหนุ่ม จึงเกิดแรงบันดาลใจเขียนโคลงส่งไปลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เขาเริ่มเขียนกลอนเมื่อชั้นมัธยมปีที่ 5-6 และเขียนจริงจังช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนั้นเขาไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ชอบเอลวิส เพรสลีย์เป็นชีวิตจิตใจ ไว้ผมทรงเดียวกับเอลวิส พกหนังสือ I.S. Song Hits กว่าจะเรียนจบปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงใช้เวลาถึง 7 ปี หลังจากเรียนจบแล้วไปบวช ระหว่างพ.ศ. 2511-12 หลังจากลาสิกขาแล้วได้ไปทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการ นิตยสาร วิทยาสาร ของ ไทยวัฒนาพานิช เมื่อปี 2514 เนาวรัตน์แต่งงานกับคุณประคองกูล อิศรางกูร ณ อยุธยา มีมีบุตรธิดา 2 คน คือ ประคำกรองและแก้วเก้า เนาวรัตน์เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาการประพันธ์อย่างสร้างสรรค์ที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

การทำงานในคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ

นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 ยุติลง โดยเข้ามาทำหน้าที่เป็นคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศ ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ จำนวน 27 คน เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความคิดเห็น และนไปสู่นโยบายในการปฏิรูปประเทศไทย [1]

ประวัติการศึกษา

  • ปริญญาตรี :นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วัฒนธรรมศึกษา) จากสหวิทยาลัยทราวดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

  • ปริญญาเอก : ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ (ภาษาและวรรณคดีไทย) คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์ (ภาษาไทย) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี

ประวัติการทำงาน

  • พ.ศ. 2508 รับราชการในกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2510 - 2511 อุปสมบทและถือถุดงค์ไปสวนโมกข์ เพื่อศึกษาพระธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุ
  • พ.ศ. 2511-2512 ประจำกองบรรณาธิการวิทยสาร
  • พ.ศ. 2513 แสดงภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง "พระอภัยมณี" ของสุนทรภู่ รับบทเป็น พระอภัย ของไชโยภาพยนตร์
  • พ.ศ. 2514-2515 อาจารย์ประจำภาควิชาประพันธ์อย่างสร้างสรรค์
  • พ.ศ. 2516 พนักงานฝ่ายการพนักงาน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด

ในปี พ.ศ. 2562 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา[2]